หน้าหลัก
บริษัทของเรา
สินค้าและบริการ
การสั่งซื้อ
สิ่งที่น่าสนใจ
ติดต่อเรา
หน้าหลัก สินค้าและบริการ
slump คอนกรีต (ค่ายุบตัวคอนกรีต)
เมื่อเราพูดถึง strength คอนกรีต หรือค่ากำลังอัดประลัย ก็ต้องพูดถึง Slump หรือ ค่ายุบตัวคอนกรีต
(ดูรายละเอียด strength)
ค่าการยุบตัวคอนกรีต (Slump) เป็นคุณสมบัติที่สำคัญอีกตัวหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อจะทำการสั่งคอนกรีตสำเร็จรูป เป็นค่าที่บอกถึง ความข้นเหลวของคอนกรีต ซึ่งจะส่งผลต่อความยากง่ายในการเทคอนกรีต
­ภาษาช่างเรียกว่า “Workability (ความสามารถเทได้)” คือ ผลรวม ของพลังงานที่จะเอาชนะแรงเสียดทานระหว่างอนุภาค (Internal friction) เพื่อให้เกิดการอัดแน่นอย่างสมบูรณ์ แต่ในทางปฏิบัตินั้น พลังงานที่ใส่เข้าไปนั้นจะต้องมากกว่าแรงเสียดทานภายในระหว่างอนุภาคและแรงเสียดทานที่ผิว (Surface friction) ระหว่างเนื้อคอนกรีตกับเหล็กเสริมและแบบหล่อ ทั้งนี้ ยังมีพลังงานที่ต้องสูญเสียไปกับการเขย่าคอนกรีตให้แน่น อีกด้วย
ขออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ ให้นึกถึงคอนกรีตมีความข้นมากๆ เวลาคนงานจะทำการเทคอนกรีตลงในแบบหล่อที่กำหนดก็ทำได้ยาก เรียกได้ว่าเทคอนกรีตลงไปก็กองแหมะอยู่อย่างนั้นไม่ไหลไปให้เต็มแบบด้วยตัวเอง คนงานก็จะต้องเหนื่อยที่จะเกลี่ยหรือเขย่าคอนกรีตให้ไหลไปเต็มแบบหล่อ เมื่อคอนกรีตมีความข้นมากๆ คนงานต้องเหนื่อยมากขึ้นในการเทคอนกรีตหรือทำงานยากขึ้น นั่นคือ Workability ต่ำ
­แต่หากคอนกรีตมีความเหลวมากๆ เมื่อเทคอนกรีตลงในแบบหล่อแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย คอนกรีตก็ไหลไปเต็มแบบหล่อด้วยตัวเอง สรุปคือ เมื่อคอนกรีตมีความเหลวมากๆ คนงานออกแรงน้อยในการเทคอนกรีต หรือทำงานง่าย นั่นคือ Workability สูง

ซึ่งในการใช้งานเราจำเป็นต้องเลือก strength และ slump ให้เหมาะสมกับสภาพการทำงาน เพราะการเลือกค่า slump ที่เหลวเกินไป แม้จะทำงานได้ง่าย แต่ก็ทำให้ค่าความแข็งแรงของคอนกรีตน้อยกว่าที่ต้องการได้ ดังนั้นจึงต้องเลือกค่าที่เหมาะสมสำหรับงานแต่ละประเภท
การทดสอบค่าการยุบตัวคอนกรีต (Slump Test) เป็นวิธีการทดสอบตามมาตรฐานของอเมริกา ASTM C 143 มีรายละเอียดดังนี้
อุปกรณ์ที่ใช้
1) โคนทดสอบ Slump เป็นรูปทรง กรวยเส้นผ่านศูนย์กลางด้านบน 10 ซ.ม. และด้านล่าง 20 ซ.ม. สูง 30 ซ.ม. มีหูจับและมีแผ่นเหล็กยื่นออกมา สำหรับให้เท้าเหยียบทั้ง 2 ข้าง
2) เหล็กตำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 16 ม.ม. ยาว 60 ซ.ม. ปลายกลมมน
3) แผ่นเหล็กสำหรับรองมีลักษณะผิวเรียบเป็นระนาบ 4) ช้อนตัก เกรียงเหล็ก ตลับเมตร หรือไม้วัด

วิธีทดสอบ
1) นำอุปกรณ์จุ่มน้ำให้เปียก
2) วางแผ่นเหล็กลงกับพื้นราบ นำโคนขึ้นวางใช้เท้าเหยียบ ปลายทั้ง 2 ข้างไว้
3) ใช้ช้อนตักคอนกรีตใส่ลงในโคน โดยแบ่งเป็น 3 ชั้น แต่ละ ชั้นให้มีปริมาตรเท่าๆ กัน ชั้นที่ 1 ใส่คอนกรีตในโคนสูงประมาณ 6-7 ซ.ม. ตำด้วยเหล็กตำ 25 ครั้ง ในการตำต้องตำให้ทั่วพื้นที่ ใส่คอนกรีต ชั้นที่ 2 จนได้ส่วนสูงประมาณ 15 ซ.ม. แล้วตำด้วยเหล็กตำอีก 25 ครั้ง โดยตำให้ทะลุถึงคอนกรีตชั้นที่ 1 เล็กน้อย ใส่คอนกรีตชั้นที่ 3 ให้พ้นขอบ จนเต็มแล้วตำด้วยเหล็กตำอีก 25 ครั้ง โดยตำให้ทะลุถึงคอนกรีตชั้นที่ 2 เล็กน้อย ปาดผิวหน้าคอนกรีตให้เรียบ รวมทั้งทำความสะอาดบริเวณโคน และแผ่นเหล็กรอง
4) ดึงโคนขึ้นตรงๆ ในแนวดิ่งอย่างช้าๆ โดยไม่หมุน หรือเอียง
5) วางโคนลงข้างๆ แล้ววัดค่ายุบตัวของคอนกรีตเปรียบเทียบ กับความสูงของโคนทดสอบ ว่าคอนกรีตยุบตัวลงไปเท่าใด โดยวัดที่จุด กึ่งกลางของคอนกรีตที่ยุบตัวให้มีค่าความละเอียดในการวัดที่ 5 ม.ม.

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
TPA NEWS คอลัมน์ คบเด็กสร้างบ้าน โดยนิพนธ์ ลักขณาอดิศร http://www.tpa.or.th/tpanews/upload/mag_content/38/ContentFile578.pdf